ร้านค้าทั้งหมด :253 สินค้าทั้งหมด :11,164 ผู้ชมทั้งหมด :43,974,293 ผู้ชมวันนี้ทั้งหมด :7,691
TOP5 เบญจภาคี ชุดเครื่องรางยอดนิยมของเมืองไทย
(Superstar องค์ดารา!!! ไข่ทอง ในเกราะทองแดง Art of Siam No.39)
(เบี้ยแก้กันของ หลวงปู่รอด วัดนายโรง กทม.)
.
เบญจภาคีเครื่องรางยอดนิยมของเมืองไทย อันประกอบไปด้วย เสือ หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย สมุทรปราการ , ตะกรุดโสฬสมหามงคล หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง นนทบุรี , หนุมาน หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุล นนทบุรี, เบี้ยแก้กันของ หลวงปู่รอด วัดนายโรง กทม. , ราหูอมจันทร์กะลาแกะ หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง นครปฐม
.
เบี้ยแก้ เป็นหอยชนิดหนึ่งในตระกูลCypraea วงศ์ Cypraeidea จะมีลักษณะหลังนูนท้องแบน เปลือกแข็ง ผิวเป็นมัน ช่องปากยาวแคบเป็นลำราง ไปจนสุดปลายทั้งสองข้างริมปากทั้งสองด้านเป็นหยัก ๆ คล้ายฟัน ไม่มีแผ่นปิด คนทั่วไปจะเรียกว่า หอยเบี้ย ในสมัยโบราณเคยใช้หอยชนิดนี้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนซื้อขายแทนเงิน และเบี้ยชนิดนี้มีชื่อเรียกหลายอย่างเช่นเบี้ยจั่น เบี้ยแก้ว เบี้ยนาง อัตราการแลกเปลี่ยนจะอยู่ที่ ๑๐๐ เบี้ย เท่ากับ ๑ อัฐ หรือสตางค์ครึ่ง ครั้นนำมาประกอบพิธีปลุกเสกด้วยพุทธาคมและเวทย์วิทยาคม ตามกรรมวิธีหลวงปู่แล้ว เรียกว่า เบี้ยแก้ เชื่อกันว่า เป็นวัตถุมงคลที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ช่วยให้ผู้ถือครองตั้งอยู่ในความดี และสามารถป้องกันหรือแก้ไขอันตรายต่าง ๆ จากคุณไสย และภูตผีปีศาจได้เป็นอย่างดี ตามความเชื่อของคนในสมัยนั้น
.
เบี้ยแก้เป็นเครื่องรางของขลังที่นับว่าเป็นภูมิปัญญาของพระเกจิอาจารย์ไทยโดยเฉพาะ สร้างจาก หอยเบี้ยจั่น ที่มีฟันครบ 32 ซึ่งพระเกจิอาจารย์ผู้มีวิชาคาถาอาคมขลัง จะสามารถเสก ปรอท ขณะกรอกลงปากเบี้ยได้ตามที่ต้องการจากนั้นจะปิดปากหอยด้วย ชันโรง ที่ได้จากใต้ดินในที่โล่งแจ้ง (หากเป็นชันโรงตามต้นไม้ จะนำมาใช้ไม่ได้) แล้วห่อด้วย แผ่นตะกั่ว ที่ลงอักขระเลขยันต์ตามตำรา เสร็จแล้วจึงถักด้วยด้าย แล้วลงรัก ซึ่งแต่ละขั้นตอนต้องบริกรรมคาถาตลอดเวลา ถึงจะมีความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์พุทธคุณเบี้ยแก้ ป้องกันคุณไสย แก้เสนียดจัญไร รวมทั้งมีเมตตามหานิยมอีกด้วยเบี้ยแก้ ที่โด่งดังเป็น 5อันดับแรกของเมืองไทย คือ เบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง , เบี้ยแก้หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว , เบี้ยแก้ หลวงพ่อภักตร์ วัดโบสถ์ อ่างทอง , , เบี้ยแก้ หลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว , เบี้ยแก้ หลวงปู่คำ วัดโพธิ์ปล้ำ อ่างทอง ฯลฯ
.
เบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง กรุงเทพมหานคร 1 ในชุดเบญจภาคีเครื่องราง และนับเป็นเบี้ยแก้อันดับ1 ของเมืองไทย ท่านเป็นพระเถราจารย์ที่มีผู้เคารพศรัทธาเลื่อมใสมากที่สุดองค์หนึ่งของย่านคลองบางกอกน้อย และเป็นพระคณาจารย์ร่วมสมัยกับสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี และหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง หลวงปู่รอดท่านเป็นพระเถระที่เชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนาธุระ และมีเกียรติคุณเป็นพิเศษในทางพุทธาคมและเวทย์วิทยาคม เบี้ยแก้เป็นเครื่องรางที่เรียกได้ว่ามีพุทธคุณฝอยท่วมหลังช้าง เบี้ยของท่านแทบทุกตัวจะต้องหุ้มด้วยตะกั่วทุบ มีทั้งแบบเปิดและแบบปิดหลังเบี้ย ส่วนใหญ่จะมีการลงรักหรือยางมะพลับ หลวงปู่รอดท่านได้สร้างเบี้ยแก้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังและนับว่าเป็นเลิศตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบันนี้
หลวงปู่รอดท่านได้ศึกษาเล่าเรียนเรื่องเบี้ยแก้มาจากหลวงปู่แขก วัดบางบำหรุ หลวงปู่แขกท่านนี้เป็นพระอาจารย์รุ่นเก่ามีอายุใกล้เคียงกับหลวงปู่ทอง วัดกลางบางแก้ว ตามประวัติว่า หลวงปู่แขกท่านเป็นพระธุดงค์มาจากลุ่มแม่น้ำนครชัยศรีแล้วจึงมาจำพรรษาอยู่ที่วัดบางบำหรุหลวงปู่แขกท่านมีความรู้ความชำนาญด้านวิทยาคมหลายๆ ด้านและได้สร้างเบี้ยแก้ไว้เหมือนกัน ต่อมาได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องเบี้ยแก้ให้แก่ หลวงปู่รอด วัดนายโรง
.
หลวงปู่รอดท่านมีไม้เท้าซึ่งใช้ประจำอยู่อันหนึ่ง ไม่ว่าจะ ไปไหนท่านจะถือไปด้วยเสมอ พวกศิษย์และชาวบ้านต่างเกรงไม้เท้านี้มาก ที่จัดว่าเป็นของดีอย่างหนึ่ง ซึ่งมีผู้แสวงหากันมากก็คือ ลูกอมชานหมาก ปกติหลวงปู่ท่านฉันหมากอยู่เป็นประจำ แต่ลูกอมชานหมากจะเกิดขึ้น ก็ตอนที่ประกอบพิธีทำเบี้ยแก้ ซึ่งในขณะนั้นท่านจะเคี้ยวหมากพร้อมกับบริกรรมภาวนาไปด้วยโดยที่ไม่บ้วนน้ำหมากหรือคายชานหมากทิ้ง ถ้าปรากฏว่า ท่านคายชานหมากออกมาเมื่อใด บรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่คอยจังหวะอยู่ ก็จะรีบเก็บเอาไว้เป็นของตนถือกันว่าเป็นของขลังที่วิเศษนัก
ขั้นตอนกรรมวิธีสร้างเบี้ยแก้ ต้องจัดเตรียมวัสดุทั้ง 4อย่าง มาให้พร้อม
ตัวเบี้ย สำหรับเบี้ยนี้บางท่านกล่าวว่ามีข้อกำหนดอย่างหนึ่ง คือ จะต้องมีฟัน 32 ซี่ สังเกตได้จากใต้ท้องระหว่างร่องปากเบี้ย ซึ่งมีลักษณะคล้ายฟันซี่เล็ก ๆแบ่งออกเป็นสองแถว ๆ ละ 16 ซี่
ปรอท ปรอทเป็นโลหะธาตุ ลักษณะเป็นของเหลวสีเงินแวววาว (ปรอทมีคุณสมบัติเป็นของเหลวลื่นไหลการจะนำปรอทมาบรรจุเบี้ยแก้ คณาจารย์ผู้สร้างต้องมีพระเวทเข้มขลัง เพราะบริกรรมพระเวทเรียกปรอทเข้าในตัวเบี้ยและต้องใช้พระเวทบังคับให้ปรอทรวมตัวกันอยู่ในเบี้ย)
.
ชันโรงใต้ดิน ชันโรงที่ใช้จำกัดแต่เฉพาะชันโรงที่มีรังอยู่ใต้ดินเท่านั้น รังของชันโรงซึ่งอยู่ตามที่อื่น ๆ ใช้ไม่ได้
แผ่นตะกั่ว เป็นแผ่นตะกั่วนมอ่อน และบางกว่าตะกั่วถ้ำชา ตัดเป็นสี่เหลี่ยมขนาดพอประมาณ กะว่าหุ้มตัวเบี้ยได้ เมื่อได้วัสดุครบพร้อมกับดอกไม้ธูปเทียนหมากพลู หลวงปู่ก็จะทำพิธีโดยนำเครื่องสักการะบูชาพระรัตนตรัย จากนั้นท่านจะบริกรรมพระเวทเรียกปรอทเข้าในตัวเบี้ย เมื่อปิดด้วยชันโรง เรียบร้อยแล้ว ท่านก็จะเอาแผ่นตะกั่วหุ้ม พร้อมกับเอาด้ามเหล็กจารคลึงและรีดให้เรียบร้อยแล้งลงอักขระกำกับและทำการปลุกเสกอีกครั้งเป็นขั้นตอนสุดท้าย
เบี้ยแก้ที่สำเร็จแล้วหลวงปู่ก็จะมอบให้แก่ลูกศิษย์ และผู้ที่รับต้องนำไปถักด้ายหุ้ม เอาเอง ส่วนใหญ่มักจะขอให้พระภิกษุภายในวัด ซึ่งเป็นผู้มีฝีมือในการนี้ถักด้ายหุ้มตัวเบี้ย ลวดลายของด้ายจะละเอียดประณีตมาก มีทั้งที่เปิดส่วนหลังไว้และหุ้มทั้งตัว โดยมีหูสำหรับร้อยเชือกตั้งแต่ห่วงเดียว สองห่วง สามหู (สามหู ไม่ค่อยได้พบเห็น หรือแทบจะไม่มีใครเคยเห็น) ต่อจากนั้นจะทายางหมากดิบ หรือยางลูกมะพลับ หรือลงรักเพื่อรักษาเส้นด้ายไม่ให้เปื่อยชำรุดเร็ว
.
อุปเท่ห์การใช้ ; กันเสนียดจัญไรแก้คุณไสยทั้งปวง เป็นเมตตามหานิยม เบี้ยคือชื่อเรียกแทนเงิน เป็นโภคทรัพย์ในตัว อุปเท่ห์การใช้ฝอยท่วมหลังช้างทีเดียว มีคติความเชื่อตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่า "เบี้ยแก้ ของหลวงปู่รอด วัดนายโรง เป็นอิทธิมงคลวัตถุ ที่สามารถเตือนภัยต่อเพศภัยที่เรามองไม่เห็นตัว ผู้ใดมีติดตัวแล้วย่อมป้องกันภยันอันตรายได้ทั้งปวง เป็นเมตตามหานิยม แคล้วคลาดทุกประการ คุ้มกันเสนียดจัญไรคุณไสย แคล้วคลาด มหาอุตม์ คงกระพันทุกประการ ยาสั่งและการกระทำย่ำยีทั้งหลายทั้งปวงได้ชะงัด"
.
หลักในการสังเกต และพิจารณาเบื้องต้น รูปทรงของเบี้ยที่มีลักษณะดี ไม่เรียวเล็กจนเกินไป ลายถัก รัก เชือกเก่าเป็นธรรมชาติถึงยุค เขย่าฟังเสียงปรอทน้ำหนักตึงมือ ไม่เบาจนเกินไป เพื่อเช็คการรั่วไหลของปรอท