ร้านค้าทั้งหมด :253 สินค้าทั้งหมด :11,164 ผู้ชมทั้งหมด :43,974,293 ผู้ชมวันนี้ทั้งหมด :12,032
พระครูนันทธีราจารย์ (หลวงพ่อเหลือ) ท่านมีความเชี่ยวชาญ และแตกฉานในวิชาเสกปลัดขิกเป็นอย่างมาก ทำให้ในปัจจุบันนี้ปลัดขิกหลวงพ่อเหลือได้รับความนิยมโด่งดังเป็นอย่างมาก จนมีผู้ขนานนามปลัดขิกของท่านว่า เป็นปลัดขิกอันดับ ๑ ของเมืองไทย
การทำปลัดขิกนั้นท่านจะให้ลูกศิษย์เหลาปลัดขิกมาให้ท่านปลุกเสกตัวใหญ่บ้างตัวเล็กบ้าง แล้วแต่จะเหลามาให้ บางคนฝีมือดีก็เหลาเป็นรูปขาลิงหางเลื้อยก็มี ปลัดขิกส่วนใหญ่จะทำด้วยไม้คูณ ปลัดขิกหลวงพ่อเหลือนั้นท่านจะลง กันหะ เนหะ ตรงกลางตัวปลัดขิก ด้านข้างซ้ายขวาจะลง อุมะอุมิ และอิติกัตตา และหลวงพ่อเหลือจะจารอักขระตัว อุ ที่หัวปลัดขิก โดยส่วนใหญ่ท่านจะจารที่หัวปลัดขิก ๓ อุ แต่ก็มี อุ หนึ่งตัวบ้างในกรณีที่ปลัดขิกตัวเล็กมาก และกรณีพิเศษวันไหว้ครูปลัดขิก ท่านจะลงเป็นพิเศษคือลงทั้งหมด ๕ อุ ในวันไหว้ครูนั้น หลวงพ่อเหลือจะนำหัวหมูบายศรี เครื่องบัดพลีต่างๆ และท่านจะเขียนผ้ายันต์เทพรำพึงหรือผ้ายันต์องค์ครูเพื่อทำพิธีไหว้ครูบาอาจารย์เป็นประจำทุกปี
หลวงพ่อเหลือปลุกเสกปลัดขิกในยามดึกเงียบสงัดโดยจะใส่ปลัดขิกไว้ในบาตรแล้ว ใช้สมาธิบริกรรมคาถาจนกว่าปลัดขิกจะขึ้นมากระโดดโลดเต้น ว่ายวนอยู่ในบาตร ดุจดั่งมีชีวิตแหวกว่ายไล่ตามเสมือนปลาในน้ำ ตัวไหนปลุกเสกมีกำลังดีแล้วจะกระโดดออกมานอกบาตรถือเป็นอันใช้ได้ ปลัดขิกหลวงพ่อเหลือจะมีอนุภาพเด่น ทางด้านคงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม ป้องกันภูตผีปีศาจ และขับเสนียดจัญไร ชาวบ้านหลายท่านนำปลัดขิกไปคาดเอวถูกหมากัดแต่กัดไม่เข้า บางท่านใช้ปลัดขิกฝนเป็นยา แล้วนำไปรับประทานเวลาป่วยไข้จะหายโดยเร็วพลัน ใช้ทำน้ำมนต์โดยการนำปลัดขิกไปครนในขันใส่น้ำฝน เพื่อนำไปรดหัว ล้างหน้า และอาบกิน เพื่อขับเสนียดจัญไร และคุณไสยต่างๆ
บางท่านโดนต่อ แตน ตะขาบ หรือสัตว์มีพิษกัดต่อย ให้อาราธนาปลัดขิกโดยนึกถึงหลวงพ่อเหลือแล้วใช้ปลายปลัดขิกนั้นจิ้มไปที่โดนต่อยจะดับพิษของสัตว์ร้ายเหล่านั้นได้ บางท่านใส่ไว้ในตะกร้าเงินเวลาขายของจะนำปลัดขิกหลวงพ่อเหลือมาอาราธนาจิ้ม ไปที่ของที่จะนำไปขายจะทำให้ขายของดีเป็นอย่างมาก ปลัดขิกหลวงพ่อเหลือนั้นท่านนิยมจะแจกให้ ญาติโยมในงานประจำปีสมโภชกลางเดือน ๔ โดยหลวงพ่อจะมอบให้แก่ญาติโยมที่มีจิตศรัทธามาทำบุญปิดทองเป็นประจำทุกปี นอกจากนั้นท่านยังมีเมตตาปลุกเสกปลัดขิกให้ชาวบ้านที่มีความศรัทธาเหลามาให้ ท่านลง โดยส่วนใหญ่ท่านจะปลุกเสกในช่วงเข้าพรรษาของทุกปี เมื่อออกพรรษาแล้วท่านจะมอบปลัดขิกให้แก่ญาติโยมที่นำมาฝากปลุกเสกไว้