ร้านค้าทั้งหมด :253 สินค้าทั้งหมด :11,164 ผู้ชมทั้งหมด :43,974,293 ผู้ชมวันนี้ทั้งหมด :11,837
@@@ สมญานาม.. สิงห์เฒ่าในตำนาน ; ราชสีห์ หนองบัว @@@
ขนาดบิ๊ก 1 นิ้ว 1 หุน ไม้แก่นขนุนมงคลนาม แบบเก๋าๆ มันส์ลึกปึ๊ก!!! (มีจารใต้ฐาน)
===================================
หนึ่งในพระอาจารย์ เสด็จเตี่ย "หลวงพ่อเฒ่ายิ้ม วัดหนองบัว" เกจิดังต้นตำรับพระปิดตาภควัมบดี ดีทั้งเมตตาและมหาลาภ.
หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี
พระกรุ-พระเก่าของเมืองนี้แทบไม่ต้องเอ่ยอ้างในคุณวิเศษ โดยเฉพาะ “พระท่ากระดาน” ชื่อชั้นอยู่ในระดับแนวหน้าว่า “คงกระพันชาตรีเป็นยอด” ส่วนเครื่องรางของขลังก็เด่นดังไม่ใช่ย่อย พระเกจิอาจารย์ผู้สร้างแต่ละองค์ล้วนเป็นที่ยอมรับในความเก่ง กาจด้านวิชาอาคม
โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงสิ่งมงคลเครื่องรางของขลังอย่าง “ลูกอม” ต้องยกให้ “หลวงพ่อเฒ่ายิ้ม” หรือ “หลวงปู่ยิ้ม” แห่งวัดศรีอุปลาราม (วัดหนองบัว) อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ดั่งคำขวัญที่ชาวเมืองพูดกันติดปาก “ลูกอมต้องวัดหนองบัว (หลวงพ่อยิ้ม) แหวนพิรอดต้องวัดบ้านทวน (หลวงพ่อม่วง) ถ้าเป็นเจ้าชู้ต้องวัดเหนือ (หลวงพ่อดี) ถ้าเป็นอ้ายเสือต้องวัดใต้ (หลวงพ่อเปลี่ยน)”
“หลวงพ่อเฒ่ายิ้ม” ท่านเป็นบุรพาจารย์รูปสำคัญของวัดหนองบัวซึ่งมรณภาพไปเมื่อ ๙๐ ปีที่แล้ว และเป็นหนึ่งในพระอาจารย์ของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือ “เสด็จเตี่ย” ที่ทรงโปรดและกริ่งเกรงในวิทยาคม
พระคณาจารย์ดังซึ่งสืบสายพุทธาคมจากตำรับตำราของท่านอย่างรู้ลึกรู้จริง พระมงคลสิทธิคุณ หรือหลวงพ่อลำใย ปิยวัณโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดทุ่งลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันท่านละสังขารไปแล้ว
หลวงพ่อเฒ่ายิ้มเป็นชาววังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี โดยกำเนิดในสมัยรัชกาลที่ ๓เมื่อปีมะโรง เดือน ๕ วันอังคาร ปี ๒๓๘๗ บิดาชื่อ นายยิ่ง มารดาชื่อ นางเปี่ยม ไม่ปรากฏนามและจำนวนพี่น้อง
ในวัยเด็กมีอุปนิสัยใจคอกล้าหาญ พูดจริงทำจริง เด็กรุ่นเดียวกันหรือแก่กว่าต่างยกให้เป็นลูกพี่ แม้จะมีเพื่อนฝูงคบหามาก แต่ก็ไม่เคยทำตัวเกเรให้เป็นที่อิดหนาระอาใจแก่ครอบครัว ตรงกันข้าม ได้ช่วยเหลือพ่อแม่ประกอบอาชีพค้าไม้ไผ่ ล่องไปขายยังปากอ่าวแม่กลองด้วยความขยันขันแข็ง ต่อมาได้เข้าอุปสมบทที่วัดหนองบัว โดยมีพระอาจารย์กลิ่น เจ้าอาวาสเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์แดง วัดเหนือ กับพระอาจารย์อินทร์ วัดทุ่งสมอ เป็นคู่สวด ได้รับฉายา “จันทโชติ”
หลังบวชแล้วได้ขยันร่ำเรียนหนังสือขอม บาลี มงคลทีปนี มูลกัจจายน์ พระเจ้าสิบชาติ สูตรสนธิ จนช่ำชอง และสามารถท่องจำพระปาติโมกข์จนสวดได้ในพรรษาที่ ๒ จากนั้นได้ออกเสาะหาพระอาจารย์ที่เชี่ยวชาญพุทธาคมตามวัดต่างๆ ใน จ.สมุทรสงคราม ขอถ่ายทอดวิชาความรู้ไว้ได้มากมายหลายแขนง วัดแรกที่มุ่งตรงไปพักคือ วัดบางลี่น้อย อำเภออัมพวา เรียนทำน้ำมนต์โภคทรัพย์ โหราศาสตร์กับหลวงพ่อพระปลัดทิม ผู้เป็นอุปัชฌาย์เก่าแก่ของชาวบางช้าง เมื่อคล่องแคล่วแล้วก็ไปศึกษาต่อที่วัดลิงโจน (วัดปากสมุทรสุดคงคา ในปัจจุบัน) ได้วิชาทำธงกันอสุนีบาตสายฟ้าและพายุคลื่น, วิชาลงอักขระหวาย, ลูกอมหมากทุย เป็นต้น
=====================================
รูปต่อมาที่ท่านร่ำเรียนวิชาด้วยก็คือ หลวงพ่อกลัด วัดบางพรหม อำเภออัมพวา ได้รับการถ่ายทอดด้านมหาอุดและมหานิยมคงกระพันชาตรี จากนั้นไปเรียนทางแพทย์แผนโบราณกับหลวงพ่อแจ้ง วัดประดู่ พระอาจารย์รูปสุดท้ายคือ หลวงพ่อกลิ่น พระอุปัชฌาย์ของท่านได้ถ่ายทอดด้านกรรมฐานและคาถาอาคมให้อย่างหมดไส้หมดพุง อาทิ คาถากำบังกายหายตัว, ดำดิน ดำน้ำ เป็นต้น เมื่อสิ้นหลวงพ่อกลิ่น ท่านก็รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหนองบัวสืบต่อมา
ผลงานของท่านดีเด่นทั้งด้านการปกครองและพัฒนา ทั้งได้ปฏิบัติกรรมฐานจนบุคคลทั่วไปยอมรับ พระสงฆ์สามเณรยกย่องให้เป็นปรมาจารย์ด้านกรรมฐาน ตลอดอายุขัยจึงแวดล้อมไปด้วยศิษยานุศิษย์ จากบันทึกประวัติและคำบอกเล่าของผู้ใกล้ชิด กล่าวกันว่าท่านเป็นพระที่ชอบสันโดษ ไม่มีความมักใหญ่ใฝ่สูงแต่อย่างใด มีจิตใจเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวเป็นยอด มุ่งทำอะไรแล้วต้องสำเร็จลุล่วงทุกอย่าง
“หลวงพ่อเฒ่ายิ้ม” หรือ “หลวงปู่ยิ้ม” แห่งวัดศรีอุปลาราม (วัดหนองบัว) อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี มีนิสัยพอใจในทางหมอและเวทมนตร์ รวมทั้งชอบทางรุกขมูลธุดงควัตร หลังออกพรรษาจะเข้าป่าทำสมาธิใน ป่าลึก บางครั้งบางปีก็เข้าไปถึงเขตประเทศพม่า สิ่งที่แปลกมหัศจรรย์คือท่านรู้ภาษานก กา และสัตว์ป่าสารพัดชนิด เล่าขานกันว่า เวลาท่านรุกขมูลมักจะมีสัตว์ป่ามาแวดล้อม ป้องกันภยันตรายอันจะเกิดแก่ท่าน นับแต่ช้าง เสือ ตลอดจนสัตว์เล็กสัตว์น้อยไม่มียกเว้น เต็มพรืดไปทั้งดง
จากการที่ได้เข้าไปทำสมาธิท่ามกลางความวิเวกในป่าสูงดงทึบทุกปี ทำให้จิตของท่านกล้าแข็งขึ้นตามลำดับ จะทำเครื่องมงคลชนิดใดก็ขลังไปเสียทุกอย่าง จนกิตติศัพท์เลื่องลือไปไกลหลายหัวเมือง ในสมัยนั้นทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตที่ผ่านจังหวัดกาญจนบุรี จะต้องมาหาท่าน เพื่อขอของคุ้มตัวจนบางครั้งท่านต้องหลบออกไปจำวัดตามร่มไม้นอกวัด
กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ หรือ “เสด็จเตี่ย” ซึ่งทรงโปรดวิชาทางเวทมนตร์คาถา เสด็จไปหาท่านถึงวัดและถวายตัวเป็นศิษย์เรียนวิชาด้วยความเคารพเลื่อมใส ทั้งนี้ หลวงพ่อยิ้มได้ถวายมีดหมอประจำพระองค์หนึ่งเล่ม และเล่าขานกันว่ามีดเล่มนั้น “ลอยน้ำ” ได้ ท่านไม่เป็นผู้หวงวิชาความรู้ แต่ใครจะมาขอเรียนตะกรุดลูกอม จะต้องทดลองนั่งกรรมฐานจนไส้เทียนขาดด้วยพลังจิตเสียก่อน จึงจะประสิทธิ์ประสาทวิชาให้
ศิษย์ที่มีชื่อเสียงขจรขจายก็คือ พระโศภณสมาจาร (เหรียญ) ศิษย์ก้นกุฏิซึ่งท่านใช้ให้ลงอักขระ เครื่องรางของขลัง, พระมงคลเทพรังษี (ดี) วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) พระกาญจนวัตรวิบูลย์ (สอน) วัดลาดหญ้า, พระครูวัตตสารโศภน (ดอกไม้) วัดดอนเจดีย์
ส่วนทางจังหวัดสมุทรสงคราม มี พระราชมงคลวุฒาจารย์ (ใจ) วัดเสด็จ, พระอธิการ แช่ม โสรส วัดจุฬามณี และ พระครูสกลวิสุทธิ (เหมือน รตนสุวรรณ) วัดกลางเหนือ อำเภอบางคนที
หลวงพ่อเฒ่ายิ้ม ท่านถึงแก่มรณภาพ เมื่อปี ๒๔๕๔ รวมสิริอายุ ๖๖ ปี พรรษา ๔๖
ด้วยเหตุที่หลวงพ่อเฒ่ายิ้มเป็นพระคณาจารย์ยุคเก่า ดำรงตนอยู่ในช่วงที่ผู้คนต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจในรูปของวัตถุ เรื่องราวของท่านจึงมักถูกสื่อออกมาในด้านบุญฤทธิ์จิตตานุภาพเป็นส่วนใหญ่ เครื่องมงคลที่ท่านสร้างขึ้นมีหลายรูปแบบ เช่น ลูกอมทำด้วยทองคำ เงิน ทองแดง กระดาษ, เชือกคาดเอวทำด้วยผ้าและหวาย, ตะกรุดคาดเอว, ขี้ผึ้งสีปาก มีดครู, ผ้าประเจียด ผ้าเช็ดหน้า หมวก เสื้อ ธง เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีพระผงยืนห้ามญาติ ด้านหลังมียันต์อกเลา พระผงแบบนั่งสมาธิ สมเด็จเล็บมือ และปางห้ามญาติ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักนิยมกันมากได้แก่ “ลูกอมทองคำ” ทั้งนี้ เป็นที่เชื่อถือกันว่า ผู้ใดมีลูกอมของหลวงพ่อยิ้มไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของตนแล้ว ไม่ต้องเกรงภัยอันตรายแต่อย่างใด โดยกล่าวเป็นคำขวัญกันว่า “ใครมีลูกอมหลวงพ่อยิ้ม จะต้องยิ้มได้เมื่อภัยมา”
นอกจากนี้ เชือกคาดเอวก็ได้รับความนิยมว่า ป้องกันเขี้ยวงาได้สารพัดสัตว์ และมีคนนิยมคาดติดตัวเข้าป่าป้องกันการเจ็บไข้ได้ป่วย ตะกรุดคลอดบุตรง่ายก็เป็นที่ชื่นชอบของหญิงมีครรภ์ เพราะเชื่อกันว่า หากได้รับมาพร้อมกับถวายดอกบัวให้ท่านเสกแล้วเอาไปต้มน้ำกิน ลูกที่เกิดมาจะมีสติปัญญาดี ผู้คนแถบทั่วลุ่มน้ำแม่กลองและจังหวัดใกล้เคียง จึงนิยมศรัทธาท่านมาก ใครมีลูกหลานก็เจาะจงให้ท่านเป็นอุปัชฌาย์แทบทั้งสิ้น
ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพ และที่มาเนื้อหาข้อมูลมา ณ ที่นี้
คอลัมน์ มุมพระเก่า อภิญญา
แอพเกจิ – AppGeji
เพื่อเผยแผ่กิตติคุณครูบาอาจารย์เป็นสังฆบูชา