พระขรรค์หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน จ.สมุทรสาคร หลวงปู่รอดท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๖ เป็นบุตรของนายทองดี และนาง เกษม บุญส่ง คหบดีชาวมอญ ในวัยเด็กท่านเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เป็นประจำ บิดามารดาของท่าน จึงได้นำท่านไปถวายให้เป็นบุตรบุญธรรมของพระอุปัชฌาย์แค วัดบางน้ำวน ซึ่งท่านเป็นพระเถระที่มีเชื้อสายรามัญและเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวรามัญในสมัยนั้น ปรากฏว่าหลังจากนั้นท่านก็เป็นเด็กที่เลี้ยงง่ายและหายจากโรคภัยนานา พระอุปัชฌาย์แคจึงตั้งชื่อให้ท่านว่า "รอด" ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ท่านได้บรรพชาและอุปสมบทโดยมีพระอุปัชฌาย์แค เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “พุทธสณฺโฑ” ได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้พระอุปัชฌาย์ ร่ำเรียนวิปัสสนากรรมฐานและศึกษาวิทยาคมต่างๆ ทั้งวิชาเมตตามหานิยม คงกระพันชาตรี วิชาทำธงไม่ให้ฝนตกและป้องกันฟ้าผ่า วิชาเสกของหนักให้เบา ฯลฯ จนเป็นที่ไว้ใจของพระอุปัชฌาย์แล้ว ท่านจึงได้ออกธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ เป็นเวลาหลายปี ระหว่างการออกธุดงค์นี้ท่านได้ศึกษาวิชาการต่างๆ เพิ่มเติมอีกหลายแขนง ภายหลังจากที่พระอุปัชฌาย์แคมรณภาพลงในปี พ.ศ.๒๔๓๙ ท่านก็ได้รับนิมนต์จากชาวบ้านให้เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน ในปี พ.ศ.๒๔๔๗ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลบางโทรัด พ.ศ.๒๔๕๒ ท่านได้รับพระราชทานตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.๒๔๘๒ ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็น พระครูชั้นประทวนและเป็นกรรมการศึกษา หลวงปู่รอดท่านถึงแก่มรณภาพในปี พ.ศ.๒๔๘๘ สิริอายุได้ ๘๒ ปี พรรษาที่ ๖๒
หลวงปู่รอดท่านเป็นพระที่มีวาจาสิทธิ์ พูดอะไรมักจะเป็นจริงเสมอ และดวงตาของท่านเป็นมหาอำนาจ จนไม่มีผู้ใดกล้าสบตาท่าน วัตถุมงคลของท่านมีทั้งเหรียญหล่อ เหรียญปั๊ม และเครื่องรางของขลังต่างๆ เช่น ตะกรุด ผ้ายันต์ พระขรรค์ สิงห์ ชูชก แกะจากไม้ขนุนและงาช้างซึ่งเป็นงากำจัด งากำจาย หรืองากระเด็นเท่านั้น ซึ่งมีความเชื่อกันว่าเป็นของคงทนสิทธิ์ มีดีอยู่ในตัว วัตถุมงคลของท่านนั้นเป็นที่เลื่องลือในด้านคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด อยู่รอดปลอดภัยสมดังชื่อของท่าน