ร้านค้าทั้งหมด :253 สินค้าทั้งหมด :11,164 ผู้ชมทั้งหมด :43,974,293 ผู้ชมวันนี้ทั้งหมด :15,467
๙๙๙ หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ (พ.ศ. ๒๔๔๗ – ๒๕๓๓) ท่านเกิดที่ อ. อุทัย จ. พระนครศรีอยุธยา ท่านกำพร้าแต่ยังเด็ก ต่อมาได้อุปสมบทที่ วัดสะแก โดยมีหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการามเป็นพระอุปัชฌาย์ รับฉายาว่า "พรหมปัญโญ" ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดประดู่ทรงธรรม, วัดกลางคลองสระบัว, และวัดนิเวศธรรมประวัติตามลำดับ
หลวงปู่ดู่ท่านมีความเคารพนับถือหลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืดเป็นพิเศษ ว่าหลวงปู่ทวดท่านเป็นพระโพธิสัตว์ที่จะได้มาตรัสรู้ในอนาคต และท่านก็ได้สร้างพระเพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหาได้ยึดเหนี่ยวไว้เป็นกำลังในการ ปฏิบัติธรรม หลวงปู่ดู่ท่านเคยพูดว่า
"ติดวัตถุมงคลยังดีกว่าที่จะไปให้ติดวัตถุอัปมงคล"
หลวงปู่ดู่ท่านได้ทิ้งมรดกทางธรรมที่สั้นๆ เข้าใจง่าย แต่ลึกซึ้งไว้มากมายอาทิเช่น
"พุทธัง ธัมมัง สังฆัง ไตรสรณคมน์นี่แหละ พระดี, คนเรานี่ก็แปลก ข้าให้ของจริงกลับไม่เอา จะเอาของปลอม"
"เอางานคือการปฏิบัติธรรมเป็นงานหลักของชีวิต เป็นการงานที่แท้จริงของชีวิต"
"ตราบใดก็ตามที่แกยังไม่เห็นความดีในตัว ก็ไม่นับว่าแกรู้จักข้าแต่ถ้าเมื่อใดที่เริ่มเห็นความดีในตัวเองแล้วเมื่อ นั้นข้าว่าแกรู้จักข้าดีขึ้นแล้ว"
"ขอให้ลงมือทำทันที ข้ารับรองว่าต้องสำเร็จ ส่วนจะช้าหรือเร็วนั้น อยู่ที่ความเพียรของผู้ปฏิบัติ"
"สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เหนือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็คือ กรรม"
"คนดีน่ะเขาไม่ตีใคร"
"ของดีอยู่ที่ตัวเราหมั่นทำ (ปฏิบัติ) เข้าไว้"
"ให้หมั่นดูจิตรักษาจิต"
"ให้หมั่นพิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา"
"ที่แกปฏิบัติอยู่ ให้รู้ไว้ว่าไม่ใช่เพื่อข้า แต่เพื่อตัวแกเอง"
"ความสำเร็จนั้น มิใช่อยู่ที่การอ้อนวอนพระเจ้ามาประทานให้ หากแต่ต้องลงมือทำด้วยตนเอง ถ้าตั้งใจทำตามแบบแล้ว ทุกอย่างต้องสำเร็จ ไม่ใช่จะสำเร็จ, พระพุทธเจ้าท่านวางแบบเอาไว้แล้วครูบาอาจารย์ทุกองค์มีพระพุทธเจ้าเป็นที่ สุด ก็ได้ทำตามแบบ เป็นตัวอย่างให้เราดูอัฐิท่านก็กลายเป็นพระธาตุกันหมด, เมื่อได้ไตร่ตรองพิจารณาให้รอบคอบแล้วขอให้ลงมือทำทันที ข้ารับรองว่า ต้องสำเร็จ ส่วนจะช้าหรือเร็วนั้นอยู่ที่ความเพียรของผู้ปฏิบัติ"
บ่อยครั้งที่มีผู้ถามปัญหากับหลวงปู่ โดยมักจะนำเอาเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับหน้าที่การงาน สามี ภรรยา ลูกเต้า ญาติมิตรหรือคนอื่นๆ มาปรารภให้หลวงปู่ฟังอยู่เสมอ, ครั้งหนึ่งท่านได้ให้คติเตือนใจว่า
"โลกเท่าแผ่นดิน ธรรมเท่าปลายเข็ม" ซึ่งต่อมาท่านได้ให้ความหมายว่า
เรื่องโลกมีแต่เรื่องยุ่งของคนอื่นทั้งนั้น ไม่มีที่สิ้นสุด เราไปแก้ไขเขาไม่ได้ ส่วนเรื่องธรรมนั้นมีที่สุด มาจบที่ตัวเรา ให้มาไล่ดูตัวเอง แก้ไขที่ตัวเราเอง ตนของตนเตือนตนด้วยตนเอง, ถ้าคิดสิ่งที่เป็นธรรมแล้ว ต้องกลับเข้ามาหาตัวเองถ้าเป็นโลกแล้วจะมีแต่ส่งออกไปข้างนอกตลอดเวลา ธรรมแท้ๆ ย่อมเกิดจากในตัวเรานี้ทั้งนั้น"
และสอนเรื่องการทำบุญ แบบประหยัดว่า
"บุญนั้น หมั่นทำเข้าไว้คนไหนที่เขาทำดีอะไรก็ตาม โมทนาไปเลย ไม่มีเสีย มีแต่ได้ อย่าไปขัดเขา, เวลาเดินผ่านไปไหน เห็นดอกไม้เราก็นึกถวายพระ ของอะไรก็ตามนึกถวายพระได้บุญทั้งนั้น, เวลาจะเปิดไฟ ถ้าอยากได้บุญก็ว่า โอม อัคคีไฟฟ้า พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ก็ได้แล้ว"
ส่วนเรื่องวัตถุมงคลของท่านนั้นหลวงปู่ดู่ท่านยืนยันว่า
"ข้าว่า ของๆ ข้า ไม่เป็นรองใครในแผ่นดิน อยู่ที่คนนำไปใช้ว่าถึงหรือเปล่า ถ้าถึงจริงๆ แล้ว ก็ไปนิพพานได้" (หมายถึงช่วยเป็นกำลังใจในการปฏิบัติได้เป็นอย่างดี นั่นเอง)
แม้แต่หลวงพ่อเกษม ท่านก็ยังเคยแนะนำให้ลูกศิษย์ท่านไปกราบหลวงปู่ดู่ และหาพระเปิดโลกของหลวงปู่ดู่มาบูชา ท่านว่าพระรุ่นนี้กันนิวเคลียร์ได้ ทั้งๆ ที่ท่านไม่เคยไปมาหาสู่กับหลวงปู่ดู่เลย
หลวงปู่ดู่ท่านปฏิบัติในแนวของพระโพธิสัตว์ญาณเช่นเดียวกับหลวงปู่ทวด ท่านจึงเปี่ยมไปด้วยความเมตตาต่อสรรพสัตว์ไปโดยไม่มีประมาณ จะเห็นได้จากท่านได้งดกิจนิมนต์เป็นเวลาถึง ๔๓ ปี นับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ตราบจนวันที่ท่านละสังขาร โดยทุกวันนับแต่ตี ๕ จนถึงดึกดื่น ท่านก็ได้ออกมาสั่งสอนลูกศิษย์ที่เดินทางมาจากทุกสารทิศโดยไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง ท่านก็มีความเมตตาอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันหมด ผู้ที่มีความทุกข์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดมาหาท่าน หลวงปู่ดู่ท่านก็อนุเคราะห์ สงเคราะห์ไปตามเหตุปัจจัย
ด้วยอานิสงค์แห่งความเมตตาและความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงปู่ดู่ ทำให้แม้ท่านจะละสังขารไปแล้ว ลูกศิษย์ลูกหาของท่านกลับไม่ได้ลดลงเลย มีแต่จะเพิ่มขึ้น ดังมีคำสอนของท่านประโยคหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า
***** "ผู้ใดที่เคยสร้างบุญสร้างกุศลมากับข้า เคยเป็นศิษย์เป็นอาจารย์เป็นลูกเป็นหลาน สร้างบุญกุศลมากับข้ามา แม้ในชาตินี้ไม่ได้พบสังขารธรรมของข้า แต่พอพบเห็นหลักธรรมคำสั่งสอนของข้า แล้วเกิดศรัทธาคนผู้นั้นแหละเคยสร้างบุญสร้างกุศลมากับข้าเคยเป็นศิษย์เป็น อาจารย์เป็นลูกเป็นหลานของข้า ขอให้ตั้งใจปฏิบัติธรรมะภาวนาไตรสรณคมน์ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิสังฆัง สรณัง คัจฉามิ เวลาเหลืออีกไม่มากแล้วรีบพากันปฏิบัติ เพื่อจะได้ไว้เป็นที่พึ่งในภายหน้าข้าจะคอยช่วย ศรัทธาข้าจริงนับถือข้าจริง แกคิดถึงข้า ข้าก็คิดถึงแก แกไม่คิดถึงข้าข้าก็คิดถึงแก ข้าอยู่ใกล้ๆ แกจำไว้" ***** ๙๙๙